วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

395 ปี บันทึกของปินโต : หลักฐานประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือนิยายผจญภัย

ประวัติของปินโต
ปินโตเป็นชาวเมืองมองเตอมูร์เก่า (Montemor-o-velho) ใกล้เมืองกูอิงบรา (Coinbre) ในราชอาณาจักรโปรตุเกส ปินโตเกิดในครอบครัวยากจนระหว่างค.ศ. 1509-1512 เมื่ออายุประมาณ 10 หรือ 12 ขวบจึงต้องเป็นเด็กรับใช้ของสุภาพสตรีผู้หนึ่ง ในค.ศ. 1523 ชีวิตของเขาตกอยู่ในอันตรายจนต้องหลบหนีลงเรือจากเมืองกูแอ ดึ แปดรา (Cue de Pedra) การผจญภัยของปินโตเริ่มขึ้นเมื่อเดินทางไปถึงเมืองดิว (Diu) ในอินเดียในค.ศ.1538 ขณะมีอายุได้ 28 ปี เขาเดินทางกลับมาตุภูมิเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1558 รวมเป็นเวลา 21 ปีของการแสวงโชคในเอเชีย ปินโตเคยเดินทางไปในเอธิโอเปีย จีน อาณาจักรของชาวตาร์ตาร์ (Tataria) โคชินไชนา สยาม พะโค ญี่ปุ่น และหมู่เกาะอินเดียตะวันออกในน่านน้ำอินโดนีเซียปัจจุบัน ปินโตเคยเผชิญปัญหาเรืออับปาง 5 ครั้ง ถูกขาย 16 ครั้งและถูกจับเป็นทาสถึง 13 ครั้ง ชีวิตในเอเชียของปินโตเคยผ่านการเป็นทั้งกลาสีเรือ ทหาร พ่อค้า ทูตและนักสอนศาสนา (missionary) เมื่อเดินทางกลับไปถึงโปรตุเกสในปีค.ศ.1558
ปินโตเคยเดินทางเข้าสยาม 2 ครั้ง (กรมวิชาการ, 2531 : 115) ครั้งแรกเข้ามาในปัตตานีและนครศรีธรรมราชก่อนค.ศ.1548 ครั้งที่ 2 เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ค.ศ.1534-1546)
หลังจากปินโตถึงแก่กรรม บุตรีของเขาได้มอบต้นฉบับหนังสือเรื่อง “Pérégrinação” ให้แก่นักบวชสำนักหนึ่งแห่งกรุงลิสบอน ต่อมากษัตริย์ฟิลิปที่ 1 (Philip I of Portugal,1581-1598 และทรงเป็นกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน - Philip II of Spain,1556-1598) ทรงได้ทอดพระเนตรงานนิพนธ์ชิ้นนี้ บุตรีของปินโตจึงได้รับพระราชทานบำเหน็จรางวัลแทนบิดา
งานเขียนของปินโตถูกนำเสนอในรูปของร้อยแก้ว บางตอนก็ระบุว่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาจากคำบอกเล่าและการสอบถามผู้รู้ อาทิ เหตุการณ์เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต บางตอนก็ระบุว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ด้วยตนเอง เช่น เหตุการณ์เดินทางเข้ามายังสยาม 2 ครั้ง (กรมวิชาการ, 2531: 115) เป็นต้น ปินโตระบุว่า การเล่าเรื่องการเดินทางของเขามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีการเรียนรู้สภาพภูมิศาสตร์ของโลกให้มากยิ่งขึ้น
เขาแสดงความขอบคุณพระเจ้าและสวรรค์ที่ช่วยให้รอดพ้นจากภยันตรายมาได้
จุดมุ่งหมายในการแปลหนังสือ“Pérégrinação” จากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษ คือ ให้ผู้อ่านเกิดความพึงพอใจและกระตุ้นให้มีการสำรวจและค้นคว้าทางภูมิศาสตร์ เพื่อเป็นบทเรียนให้สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเรืออับปาง เพื่อทัศนศึกษาดินแดนต่างๆในโลกกว้างและเพื่อเรียนรู้เรื่องราวของ“คนป่าเถื่อน”(Henry Cogan, 1653 : A-B)\
จุดมุ่งหมายที่จริงจังของทั้งปินโตและโคแกนสะท้อนให้เห็นคุณค่าของเหตุการณ์ สถานที่ ทรัพยากร อารมณ์ ความรู้สึกและวัฒนธรรมอันหลากหลายของผู้คนที่ปรากฏในหนังสือ
บันทึกของปินโตนับเป็นเอกสารสำคัญที่กล่าวถึงเรื่องราวส่วนหนึ่งเกี่ยวกับทรัพยากร การทหาร วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ กฎหมายและเรื่องราวในราชสำนักสยามกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อเกิดศึกระหว่างสยามกับเชียงใหม่ขึ้นใน ค.ศ.1548 (พ.ศ.2091)
ปินโต กล่าวว่า

“ชาวต่างประเทศทุกๆชาติที่ไปร่วมรบกับกษัตริย์สยามนั้นต่างก็ได้รับคำมั่น
สัญญาว่าจะได้รับบำเหน็จรางวัล การยกย่อง ผลประโยชน์ ความชื่นชมและเกียรติยศชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะได้รับอนุญาตให้สร้างโบสถ์เพื่อการปฏิบัติศาสนกิจในแผ่นดินสยามได้....”
[1]
[1]Fernand Mendez Pinto, op.cit., p.262
หนังสือของปินโตถูกตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวางในยุโรป จึงเป็นเหตุให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง
อย่างไรก็ดี ดึ กัมปุช อดีตกงสุลใหญ่โปรตุเกสเมื่อค.ศ.1936 กลับชี้ว่าหลักฐานของปินโตแสดงให้เห็นว่าเขาเคยเดินทางเข้ามายังสยามจริง (Campos, 1940 : 14-15) และสิ่งที่สนับสนุนความน่าเชื่อถือในงานของปินโต คือ การยกงานเขียนในชั้นหลังๆมาเทียบเคียงความเป็นไปได้และความถูกต้องของเรื่องราวโดยเฮนรี โคแกน งานเขียนปินโตบางส่วนมีรูปแบบเป็นจดหมายติดต่อกับบุคคลที่ระบุในบันทึกของเขา และปินโตยังยืนยันว่าเขาได้รับจดหมายฝากฝัง จากผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งเมืองกัว (Goa) เพื่อให้ได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระราชินีแคเธอรีนแห่งโปรตุเกส (Cogan,1653 : 317) แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการอ้างอิงพยานบุคคลของเขา หลักฐานของปินโตกับปัญหาในการศึกษาชุมชนโปรตุเกสสมัยอยุธยา มาใช้ในการตรวจสอบเรื่องราวเกี่ยวกับตำแหน่งหัวหน้าค่ายโปรตุเกส
ผู้เขียนเห็นว่างานนิพนธ์ของปินโตมีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์มากกว่าจะถูกมองว่าเป็นเพียงวรรณกรรมประโลมโลกหรือนิยายผจญภัยของกลาสีเรือ แม้เนื้อหาบางตอนจะดูตื่นเต้นเร้าใจเกินกว่าจะมีความสมจริงตามทัศนะของนักประวัติศาสตร์ แต่ในสภาวะที่ยุโรปเพิ่งจะพ้นจากยุคแห่งการจุดไฟเผาหญิงสาวที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดและยังคงเคร่งต่อจริยธรรมทางศาสนา มีใครบ้างที่จะกล้าเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าตนเองเคยรับประทานเนื้อมนุษย์เพื่อประทังชีวิตกลางทะเลหลังจากถูกโจรสลัดโจมตี

วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อุตสาหกรรมท่องเที่ยว


เที่ยวตลาดน้ำอโยธยา ตลาดน้ำแห่งใหม่ ใหญ่สุดในอยุธยา








ของฝากจากตลาดน้ำอโยธยา

เสื้อสกีนคำว่า อโยธยา เสื้อลายไทย




นั่งเรือชมวิวรอบตลาดน้ำ





มีของขายบนเรือ



กระป๋าผ้าลายไทย



ตลาดน้ำอโยธยา

วันเสาร์นี้ว่างพอดีเลยนั่งรถไปเที่ยว ตลาดน้ำอโยธยา การเดินทางจากนนทบุรี ถ้าขับรถไปก็สะดวกมากกว่า ออกไปทางรังสิต เข้าสายเอเชีย อ่านตามป้ายที่บอกทางไปอยุธยา เลี้ยวซ้ายแรกที่ถนนสายเอเชีย เข้าเมืองอยุธยา เลี้ยวขวาที่สองตรงวงเวียนเจดีย์ จากวงเวียนเจดีย์ ไปอีก 1 กิโลเมตรจะเห็นทางเข้าตลาดน้ำอโยธยา ใหญ่มาก มีรถเข้าออกตลอด รวมระยะทางจากกนนทบุรี ไป ตลาดน้ำอโยธยา ประมาณ 70 กิโลเมตรเท่านั้น
ที่ตลาดน้ำอโยธยามีที่จอดรถ จอดฟรีได้มากกว่า 500 คัน ถึงจะมีเยอะขนาดนี้ที่จอดก็เต็มตลอด ถ้าอยากจอดสะดวกก็จอดแบบเสียเงินได้ คงเป็นที่ของชาวบ้านแถวนั้น คันละ 20 บาท
หลังจากจอดรถเสร็จจะต้องเดินเข้าตลาดน้ำ ผ่านศาลาเรือนไทย เรือไม้ กำแพงเมืองตลาดน้ำอโยธยา บรรยากาศดีมาก บ้านไม้ทรงไทยแบบนี้หาชมได้ยากมาก
ลักษณะของตลาดน้ำอโยธยา เป็นเหมือนบึงขนาดใหญ่ แล้วสร้างร้านค้าและทางเดินโดยรอบ มีการสร้างเป็นเกาะอยู่ตรงกลาง มีสะพานไม้เชื่อมต่อถึงกัน ดูแล้วคล้ายๆ กับตลาดน้ำสี่ภาค พัทยา แต่ใหญ่กว่า และดูสวยกว่า
ในแต่ละโซนจะตั้งชื่อเหมือนตลาดในจังหวัดอยุธยา เช่นโซนตลาดเจ้าพรหม, โซนตลาดเสนา

ดูจากเวบไซต์ของตลาดน้ำอโยธยาแล้ว รวมกับที่ได้ไปมา เค้าตั้งใจจะให้ตลาดน้ำอโยธยาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและศึกษาเชิงอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาทั้ง ด้านการแต่งกายสถาปัตยกรรมที่งดงามและคงเอกลักษณ์ขนบธรรมเนียมประเพณี การละเล่น และแสดงพื้นบ้าน ของกินของใช้ในยุคเก่า วิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไทยๆ ที่เรียบง่าย
เรือขายขนม อาหาร สร้างบรรยากาศแบบตลาดน้ำ ที่นี่มีเรือขายสินค้า อาหารทั้งหมด 50 ลำ และร้านค้าอีก 249 ร้านค้า
เสียดายว่าวันที่ไปเราไม่มีเวลามาก เลยไม่ได้ชมการแสดง ในส่วนของการแสดงนั้นสามารถชมได้ฟรีคนที่เคยชมการแสดง บอกว่าแสดงดีมากเล่นจริง เจ็บจริง แสดงโดยนักแสดงระดับครู
ในส่วนของกิน มีให้เลือกซื้อเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นขนมแบบไทยๆ ก๋วยเตี๋ยวเรือ ส้มตำ ไก่ย่าง น้ำตก อาหารทะเลเผายังมีเลย ที่นั่งกินก็มีทั้งแบบโต๊ะ หรือจะปูเสื่อกินริมน้ำก็ได้บรรยกาศไปอีกแบบ

สำหรับกิจกรรม ที่นี่มีกิจกรรมขี่ช้างด้วยเนื่องจากอยู่ที่เดียวกับปางช้างอโยธยา (ข้างวัดมเหยงคณ์) รู้สึกว่าจะคนละ 40-50 บาท นี่แหล่ะ ถูกมาก ก็จะขี่ชมโบราณสถานเก่าวัดมเหยงคณ์
ตั้งแต่ไปเที่ยวตลาดน้ำต่างๆ มา ยอมรับเลยว่าตลาดน้ำอโยธยา ทำได้ดีมาก สมบูรณ์แบบทั้งการจัดการ การวางผัง ร้านค้า อาหาร บรรยากาศ ดูดีไปหมด อีกทั้งยังไม่ไกลจากกรุงเทพฯ อีกด้วย โดยส่วนตัวแล้วชอบที่นี่มาก คิดว่าคงต้องหาเวลามาใหม่อีกครั้งเร็วๆ นี้แน่นอน
ใครที่จะมาเที่ยว ตลาดน้ำอโยธยา แนะนำว่าให้ออกซัก 9-10 โมงจะดีมาก ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ อีก 1 ชั่วโมง ถึงเอาสายๆ ตอนที่ตลาดน้ำอโยธยา เปิดพอดี เข้าออกสะดวก รถไม่ติด มีที่จอดรถเยอะเลย ก่อนที่จะถึงที่จอดฟรี จะมีที่จอดแบบเสียตังค์รู้สึกว่า 20 บาท ถ้าไปช่วงเช้าก็ไปหาที่จอดฟรีเอาดีกว่า
ช่วง 10 โมง คนยังมากันไม่เยอะ ถ่ายรูปสะดวกกว่า เดินได้สักพักเดียว เกิดอยากเข้าห้องน้ำ เห็นป้ายชี้ไปยังห้องน้ำ ห้องน้ำอยู่ในท่อนซุง ลักษณะเหมือนไม้จริงมาก ตอนแรกนึกว่าไม้จริง ห้องน้ำเสียค่าเข้าคนละ 3 บาท ห้องน้ำสะอาด ดูดีมาก ที่ฝั่งโถปัสสาวะเป็นผนังกระจก เห็นน้ำตกจำลองที่อยู่ด้านนอก ตกแต่งสวย พอดีว่ามีคนทำธุระอยู่ในห้องน้ำ เลยไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ดู